หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบ วิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (ภายใต้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน) ฉบับ พ.ศ. 2561

1. ชื่อหลักสูตร

(ก) สาขาประเภทที่ 1

(ภาษาไทย) หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ) Residency Training in Preventive Medicine (Occupational medicine)

2. ชื่อวุฒิบัตร

ชื่อเต็ม

(ภาษาไทย) วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ) Diploma of the Thai Board of Preventive Medicine (Occupational Medicine)

ชื่ออภิไธย

(ภาษาไทย) แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ) Occupational Medicine Physician

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย (โดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย)

4. พันธกิจของการฝึกอบรม / หลักสูตร

เพื่อฝึกอบรมวิชาอาชีวเวชศาสตร์ซึ่งเป็นเวชศาสตร์ป้องกันแขนงที่มุ่งเน้นดูแลประชากรวัยทำงาน โดยให้มีความรู้และสามารถป้องกันในประเด็นสิ่งคุกคามสุขภาพในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และยังมีความสามารถในการดูแลผลต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในเบื้องต้นได้ โดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมจะต้องมีความสามารถวางแผน ให้บริการและประเมินผลการดูแลรักษาและป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพโดยใช้หลักการของเวชศาสตร์ป้องกันและหลักการของเวชศาสตร์ชุมชนโดยพิจารณาว่าสถานประกอบการเป็นชุมชนประเภทหนึ่งด้วย ศาสตร์ด้านนี้มีความเฉพาะแตกต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไปและสาขาอื่นๆ คือเน้นเฉพาะสิ่งคุกคามในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นสถานที่จำกัด เวลาสัมผัสจำกัด นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดูแลจัดการผู้ป่วยที่เป็นโรคจากและการบาดเจ็บจากการทำงานได้ด้วย นอกจากนี้สุขภาพของคนวัยทำงานส่วนใหญ่จะแข็งแรงดี และเนื่องจากแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะถูกคาดหวังให้ดูแลด้านสุขภาพที่เกิดจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยดังนั้นในหลักสูตรจึงเพิ่มเรื่องเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อให้สามารถอธิบายและดูแลประชาชนในเบื้องต้นได้ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจึงได้พัฒนาหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเนื้อหาด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้าไปมากขึ้น

นอกจากความรู้และทักษะด้านอาชีวเวชศาสตร์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรมีความสามารถด้านอื่นๆที่สำคัญเช่น ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ การสื่อสารความเสี่ยง การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ กระบวนการคุณภาพเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อประชากรที่ดูแล ผู้ร่วมงาน และองค์กร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการอาชีวอนามัย

5. ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอาชีวเวชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้

5.1 การดูแลรักษาผู้ประกอบอาชีพ/คนทำงาน (Workers and People Care)

  1. สามารถประเมินภาวะสุขภาพเพื่อความเหมาะสมกับการทำงานและเพื่อกลับเข้าทำงานภายหลังการ บาดเจ็บ/เจ็บป่วย
  2. สามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและ/หรือการบาดเจ็บแก่ผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา อย่างเป็นระบบ
  3. สามารถจัดและดำเนินการระบบการเฝ้าระวังทางการแพทย์ สอบสวน ควบคุม โรคและ/หรือการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ และโรคเนื่องจากงาน
  4. สามารถวินิจฉัย รักษาเบื้องต้น และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยด้วยโรคและ/หรือการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ และโรคเนื่องจากงาน มีทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วย
  5. สามารถประเมินการสูญเสียสมรรถภาพร่างกายและจิตใจจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. สามารถวางแผนและจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในสถานประกอบกิจการ

5.2 ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ประกอบอาชีพ/คนทำงาน และสังคมโดยรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)

  1. มีความรู้ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกาย และจิตใจที่เกี่ยวข้องกับอาชีวเวชศาสตร์
  2. มีความรู้ และทักษะ ในวิชาชีพ และเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์
  3. สามารถวางแผนและดำเนินการบริการอาชีวเวชกรรม เพื่อสนับสนุนการบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบกิจการหรือแรงงานนอกระบบ แบบผสมผสาน ทั้งในสถานบริการสาธารณสุข สถานประกอบกิจการและชุมชน
  4. มีความรู้และทักษะในการวางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการ ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเกิดในที่ทำงาน รวมทั้งการเตรียมการและตอบโต้อุบัติภัย ได้แก่ การจำแนกความรุนแรงของการบาดเจ็บและเจ็บป่วย (Injury and Illness Classification) การออกแบบระบบตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ภายในสถานประกอบกิจการและชุมชน รวมทั้งการใช้ข้อมูลทางด้านภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ สิ่งคุกคามต่อสุขภาพ ทรัพยากรทางการแพทย์ มาประกอบการวางแผนและประเมินความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพตลอดจนการให้คำแนะนำการจัดห้องปฐมพยาบาล ตลอดจนอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพที่จำเป็น
  5. มีความรู้และประยุกต์ใช้มาตรฐาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

5.3 การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Learning and Improvement)

  1. มีการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติตามข้อ 5.1) และ 5.2) ความคิดสร้างสรรค์ตามหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างความรู้ใหม่และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
  2. ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
  3. วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์
  4. เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ

5.4 ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

  1. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับบุคลากรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
  2. สื่อสารกับผู้ร่วมงาน ผู้ป่วย ญาติ และชุมชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

5.5 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

  1. มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อคนทำงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
  2. มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (Non-technical Skills) และ จิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind)รวมทั้งสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม
  3. มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous Professional Development)
  4. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

5.6 การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)

  1. มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
  2. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ประกอบอาชีพและรักษาผู้ป่วย และด้านทรัพยากรบุคคล
  3. ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost-conscious Medical Practice) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลผู้ประกอบอาชีพและรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
  4. บริหารจัดการระบบข้อมูลข่าวสารด้านอาชีวเวชกรรม และประยุกต์ใช้ เพื่อการบริการและวิชาการ
  5. รู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับงานทางอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ในข้อ 5.1-5.6 จะต้องผ่าน EPA หลักทั้ง 5 ข้อ

6. แผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

6.1 วิธีการให้การฝึกอบรม

6.1.1 ขอบเขตของการฝึกอบรม

สถาบันฝึกอบรมมีหน้าที่จัดเตรียมความพร้อมให้แพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรม ได้รับการหล่อหลอมให้มีหลักการของอาชีวเวชศาสตร์และสมรรถนะหลัก 6 ประการ ตามที่สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กำหนด รวมถึงการมีประสบการณ์ในด้านเวชศาสตร์ป้องกัน การให้บริการอาชีวอนามัย การวินิจฉัยและการจัดการโรคจากการทำงาน และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน ให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งจะเป็นความเชี่ยวชาญของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต่อไป

6.1.2 ระยะเวลาและระดับของการฝึกอบรม

การฝึกอบรมมีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยอนุญาตให้ลาพักผ่อนได้ปีละ 10 วันทำการ หรือไม่เกิน 30 วันทำการ ตลอดการศึกษาอบรม จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตร ในกรณีลาเกินกว่ากำหนด จะต้องมีการขยายเวลาฝึกอบรมให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 150 สัปดาห์ จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินวุฒิบัตร นอกจากนี้ผู้ผ่านการอบรมจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรปริญญาโทในสาขาอาชีวเวชศาสตร์หรือเทียบเท่าตามที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯกำหนดก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตรด้วย สถาบันฝึกอบรมทีหน้าที่จัดเตรียมให้แพทย์ประจำบ้านได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับชั้นปีที่ฝึกอบรม กล่าวคือใน

ระดับชั้นปีที่ 1 แพทย์ประจำบ้านจะต้องผ่านการอบรมความรู้เบื้องต้นด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ตามหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีความรู้เรื่องหลักการด้านอาชีวเวชศาสตร์ของประเทศ มีการเรียนรู้ตามหลักการของเวชศาสตร์ป้องกัน การส่งเสริมป้องกันโรค การจัดการเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน โดยจัดการหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยโรคจากการทำงานในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติในคลินิกโรคจากการทำงาน รวมถึงการใช้เครื่องมือการตรวจทางอาชีวเวชศาสตร์และแปลผลได้อย่างถูกต้อง มีความรู้ในการจัดการเหตุฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ การจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะต้องทำงานวิจัยด้านอาชีวเวชศาสตร์หนึ่งเรื่อง ทั้งนี้แพทย์ประจำบ้านแต่ละท่านจะต้องมีอาจารย์แพทย์ของสถาบันเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาสามปีที่เรียน

ระดับชั้นปีที่ 2 มีความรู้ในด้านต่าง ๆทางอาชีวเวชศาสตร์มากขึ้น มีความรู้ด้านพิษวิทยาเบื้องต้น และความรู้การทำวิจัย รวมถึงการทำวิทยานิพนธ์ โดยแพทย์ประจำบ้านจะผ่านชั้นปีนี้ได้ต้องทำงานวิทยานิพนธ์ และตีพิมพ์ในวารสารที่คณะอนุกรรมการและสอบฯ กำหนด อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง โดยอาจารย์แพทย์ของสถาบันของแพทย์ประจำบ้านจะต้องมีส่วนร่วมด้วย

ระดับชั้นปีที่ 3 เป็นหัวหน้าทีมในการปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ สามารถปฏิบัติงานต่างๆได้ ด้วยตนเอง ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ในแต่ละสถาบัน และสามารถให้ความรู้แก่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 พยาบาลอาชีวอนามัย คนงานและเจ้าของสถานประกอบการ เป็นหัวหน้าทีมในการวินิจฉัย ดูแล จัดการผู้ป่วย โดยให้ แพทย์ประจำบ้านอาวุโสเหล่านี้มีโอกาสฝึกฝนให้เกิดทักษะทางด้านการกำกับดูแล การติดตาม การทำงานบริการอาชีวอนามัย การเฝ้าระวังทางการแพทย์ การใช้เครื่องมือต่างๆด้านอาชีว เวชศาสตร์ การบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

จะมีการบันทึกประสบการณ์การเรียนรู้ในหนังสือ log book ซึ่งต้องนำมาส่งพร้อมเอกสารในการยื่นสอบ ซึ่งจะต้องบันทึก กิจกรรมได้แก่

  1. จำนวนและโรคจากการทำงานที่ทำการวินิจฉัย
  2. จำนวนครั้งการเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีที่จัดหรือร่วมจัดโดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย รายปี
  3. จำนวนครั้งและประเภทของการออกสืบสวนหรือสืบค้นโรค
  4. จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Fit for work
  5. จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Return to work
  6. จำนวนครั้งและประเภทของกิจกรรมวิชาการ ที่เข้าร่วมเช่น Case conference, journal club
  7. จำนวนครั้งของการร่วมจัดสัมมนา หรือการสอนแสดง
  8. จำนวนครั้งของการฝึกปฏิบัติการสำรวจสถานประกอบกิจการ

6.1.3 การจัดการฝึกอบรม

6.1.3.1 แนวทางการฝึกอบรม เป้าหมาย และวัตถุประสงค์

สถาบันฝึกอบรมจะต้องมีแนวทางหรือคู่มือการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย โดยในแต่ละส่วนย่อยของหลักสูตร (rotation) จะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และวิธีการประเมินให้ชัดเจน

สถาบันฝึกอบรมควรกำหนดสัดส่วนของการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานและการเรียนรู้ในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ให้เหมาะสม โดยสอดแทรกความรู้ทางด้านเจตคติ และเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองไปตลอดหลักสูตร

เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านได้รับประสบการณ์ด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างพอเพียง สถาบันฝึกอบรมควรจัดให้มีแพทย์ประจำบ้านได้มีเวลาฝึกปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์รวมกันตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ซึ่งงานอาชีวเวชศาสตร์นี้ประกอบไปด้วยการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมป้องกัน การจัดการเฝ้าระวัง และ การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ในสถานประกอบการ การปฏิบัติงานที่คลินิกโรคจากการทำงาน การวินิจฉัยโรคและจัดการโรคจากการทำงาน การทำการฟื้นฟู การจัดคนให้เข้ากับงาน การทำการกลับเข้าทำงาน และการติดตามผู้ป่วยในสถานประกอบการเมื่อกลับเข้าทำงาน

6.1.3.2 การเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน

อาชีวเวชศาสตร์

อาชีวเวชศาสตร์เป็นงานเวชศาสตร์ป้องกันเฉพาะด้าน ซึ่งผสมผสานงานด้านคลินิก และการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพของคนทำงาน การเฝ้าระวัง การวินิจฉัยและการจัดการโรคจากการทำงาน และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน

การปฏิบัติงานการเรียนรู้
คลินิกโรคจากการทำงาน (คลินิกอาชีวเวชศาสตร์)เรียนรู้เรื่องการซักประวัติ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงและการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน การจัดการผู้ป่วยโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน การตรวจสุขภาพเพื่อดูความพร้อมในการทำงาน การประเมินเพื่อกลับเข้าทำงาน การติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ การติดตามหลังการจัดการ การออกใบรับรองแพทย์ การตรวจพิเศษทางอาชีวอนามัย การแปลผล และการแจ้งผล หลักการแจ้งผลการตรวจสุขภาพกับนายจ้างและคนงาน รวมทั้งการชดเชยตามหลักการของกองทุนเงินทดแทน โดยแพทย์ประจำบ้านปี 1 สามารถให้การวินิจฉัยและจัดการโรคจากการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ทำได้ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ และแพทย์ประจำบ้านปี 2 สามารถทำได้เองบางส่วนสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นเรื่องโรคและการจัดการแก่นายจ้างและคนงานได้ แพทย์ประจำบ้านปี 3 สามารถทำได้เอง และสามารถสอนแสดงให้แก่แพทย์ประจำบ้านปี 1 และปี 2 ตาม EPA4 ในภาคผนวกที่ 6
การจัดการบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ รวมทั้งการเฝ้าระวังการเดินสำรวจสถานประกอบการ การหาความเสี่ยงต่อสุขภาพ การแปลผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การจัดการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง การแปลผลการตรวจสุขภาพทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม การนำเสนอโครงการด้านอาชีวอนามัยในสถานประกอบการโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ การควบคุมติดตามโครงการ การให้ความรู้แก่นายจ้างและลูกจ้างด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ การส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพของคนทำงาน โดยแพทย์ประจำบ้านปี 1 สามารถปฏิบัติได้ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้านปีสองสามารถวางแผนจัดทำโครงการได้ แพทย์ประจำบ้านปี 3 สามารถทำได้เอง ตาม EPA 3 ในภาคผนวกที่ 5
เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมสามารถประเมินสิ่งแวดล้อมว่าเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพหรือไม่ ร่วมออกไปสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมกับอาจารย์แพทย์ โดยต้องเขียนรายงานเหตุการณ์และนำมาสัมมนาร่วมกัน โดยแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 เรียนรู้หลักการจากการอบรมเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามหลักสูตรของกรมการแพทย์ และในปีที่ 2 จากการเรียนที่จัดโดยสมาคม สำหรับปีที่ 3 จะออกปฏิบัติในพื้นที่ร่วมกับอาจารย์แพทย์ที่รับผิดชอบ ตาม EPA 5 ในภาคผนวกที่ 7
ด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคในองค์กรแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 สามารถอธิบายหลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 และ 3 สามารถวางแผนโครงการด้านการป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ รวมทั้งการติดตามประเมินผลได้ ตาม EPA 2 ในภาคผนวกที่ 4
ด้านการตรวจความพร้อมในการทำงานและการกลับเข้าทำงานแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เรียนรู้หลักการและฝึกปฏิบัติในกรณีที่พบบ่อยและไม่ยุ่งยาก แพทย์ปีที่ 2 และ 3 เริ่มปฏิบัติในรายที่ยุ่งยากมากขึ้น ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์ และต้องสามารถทำได้เองรวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้แพทย์รุ่นน้องได้ ตาม EPA1 ในภาคผนวกที่ 3

6.1.3.3 การเรียนรู้ในห้องเรียน

สถาบันฝึกอบรมต้องจัดกิจกรรมให้แพทย์ประจำบ้านมีการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยได้ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมวิชาการอย่างน้อยครึ่งวันต่อสัปดาห์ กิจกรรมวิชาการที่ควรจัดมีดังต่อไปนี้

การเข้าร่วมประชุมวิชาการ หรือประชุมปรึกษาผู้ป่วย ได้แก่

  1. การประชุมภายในภาควิชา/หน่วยงาน เช่น
    • Morning report
    • Case conference
    • Morbidity / Mortality conference
    • Journal club
    • Topic discussion
  2. การประชุมร่วมระหว่างหน่วยงาน  เช่น
    • Interdepartmental conference
    • Interhospital conference
  3. การบรรยายด้านอาชีวเวชศาสตร์ เช่น
    • หลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ประยุกต์ใช้ด้านอาชีวเวชศาสตร์)
    • การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ
    • โรคจากการทำงานที่พบบ่อยและการจัดการ
    • เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามที่กำหนด
  4. การสอนเรื่องการวิจัยและระบาดวิทยาทางคลินิก
  5. การสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ ความรู้ทั่วไป และ ภาษาอังกฤษ
  6. แพทย์ประจำบ้านจะต้องเข้าประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่จัดทุกปี

6.1.3.4 การเรียนรู้แบบอื่น

สถาบันฝึกอบรมควรจัดให้แพทย์ประจำบ้านมีความรู้และเกิดทักษะในเรื่องต่อไปนี้

  • จรรยาบรรณทางการแพทย์
    1. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย การรักษาความลับของผู้ป่วย  การอนุญาตหรือยินยอมรับการตรวจรักษา การทำตัวเป็นกลางในการปฏิบัติงาน
    2. การปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพและสังคมโดยส่วนรวม ได้แก่ การรายงานแพทย์ที่บกพร่องต่อหน้าที่ การประชุมทบทวนผลการรักษาเพื่อพิจารณาปรับปรุงวิธีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ข้อขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างคุ้มค่า และ ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมในการทำงานทางการแพทย์
  • Clinical Teaching Skills
  • Communication Skills
  • การประเมินคุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพ การป้องกันความเสี่ยง และความคุ้มค่าของการปฏิบัติงานด้านต่างๆ
  • องค์กรเพื่อสุขภาพ การบริหารด้านการเงินในงานบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย
  • การศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง
    1. ทักษะและวิธีการในการค้นหาข้อมูลต่างๆ ทางวิชาการ (medical literature) การใช้ internet
    2. การประเมินการศึกษาวิจัย การออกแบบการวิจัย และการใช้วิจารณญาณในการยอมรับผลการศึกษาวิจัยต่างๆ
    3. การตัดสินใจในข้อมูลต่างๆ ทางการแพทย์ และการนำมาปฏิบัติในงานดูแลผู้ป่วย

6.1.3.5 การฝึกฝนการใช้เครื่องมือทางอาชีวเวชศาสตร์

สถาบันฝึกอบรมมีหน้าที่สอนและแนะนำแพทย์ประจำบ้านให้เกิดทักษะในการใช้เครื่องมือทางอาชีวเวชศาสตร์ที่จำเป็นและฝึกหัดการแปลผล โดยมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ

6.1.3.6 การวิจัยทางการแพทย์และบันทึกรายงานการศึกษาผู้ป่วย

เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการวิจัยขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ทางคลินิก หรือทางสังคม และฝึกปฏิบัติจริง สถาบันฝึกอบรมต้องกำหนดให้แพทย์ประจำบ้านมีผลงานการวิจัยทางการแพทย์ในรูปของวิทยานิพนธ์ และรายงานการจัดการเฝ้าระวัง หรือแผนการจัดทำบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการอย่างเหมาะสม

6.2 เนื้อหาของการฝึกอบรม/หลักสูตร

6.2.1 ความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไป (ภาคผนวก 1)

6.2.2 ความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกัน เฉพาะแขนง (ภาคผนวก 2)

6.2.3 ทักษะ/เจตนคติของวิชาชีพและความรู้ด้านบูรณาการ แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้องเรียนรู้ดังนี้

  • ทักษะเจตนคติของวิชาชีพ
    • การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
    • การรักษามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด
    • การยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
    • ความปลอดภัยของผู้ป่วย
    • ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ
    • มารยาทในการดูแลผู้ป่วยข้างเตียง
    • การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ป่วย ญาติ เพื่อนร่วมงาน
    • สามารถประยุกต์ใช้ทักษะเจตนคติวิชาชีพกับคนงาน เพื่อนคนงาน นายจ้าง
  • ความรู้ด้านกฎหมาย
    • การบันทึกเวชระเบียนที่ครบถ้วนถูกต้อง
    • การขอความยินยอมจากผู้ป่วยในการดูแลรักษาและการทำหัตถการ
    • สิทธิผู้ป่วย
    • การให้ข้อมูลผู้ป่วยที่ถูกต้องครบถ้วน
    • พรบ. วิชาชีพเวชกรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
    • การฟ้องร้องทางการแพทย์และการป้องกัน
    • พรบ. และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข
  • ความรู้ด้านบริหารจัดการทางการแพทย์
    • ระบบประกันสุขภาพต่างๆ เช่น ระบบประกันสังคม ระบบกองทุนเงินทดแทน ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสุขภาพเอกชน
    • การใช้ระบบประกันสุขภาพต่างๆในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
    • หลักการบริหารจัดการ และการใช้ยา และทรัพยากรอย่างสมเหตุผล
    • บทบาทของแพทย์ทางเลือก การดูและรักราสุขภาพของตนเอง
    • ระบบค่าตอบแทนทางการแพทย์ เช่น fee for services, DRG
    • การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพตามแนวทางของกองทุนเงินทดแทน
    • ระบบและการรับรองคุณภาพของสถานประกอบการเช่น ISO และ มอก.
    • ระบบการรับรองคุณภาพของห้องปฏิบัติการ
    • ระบบและกระบวนการรับรองคุภาพของโรงพยาบาล
  • ความรู้เฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์
    • สถิติ ตัวเลข ภาพรวมของแรงงาน จำนวนและประเภทของอุตสาหกรรม และอื่นๆในภูมิภาค
    • โครงสร้างของรัฐในด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ฯลฯ
    • หน่วยงานมาตรฐานด้านอาชืวอนามัยและความปลอดภัยในต่างประเทศ เช่น ILO, NIOSH, OSHA, BSE ฯลฯ
    • ระบบเหตุฉุกเฉินเช่น ระบบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการเหตุฉุกเฉินในระดับจังหวัด ฯลฯ

6.2.4 การทำวิจัย

การทำวิจัย

แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวเวชศาสตร์ ได้แก่งานวิจัยแบบ retrospective, prospective หรือ cross sectional อย่างน้อย 2 เรื่อง โดยอาจเป็น review หรือ meta-analysis 1 เรื่อ โดยเป็นผู้วิจัยหลัก โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 3 ปี ระหว่างการฝึกอบรม

คุณลักษณะการวิจัย

  1. เป็นผลงานริเริ่มใหม่ หรือเป็นแนววิจัยที่ใช้แนวคิดที่มีการศึกษามาก่อนทั้งในและต่างประเทศ แต่นำมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ดีขึ้น หรือเข้ากับในบริบทของชุมชนหรือประเทศ
  2. แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ผู้ดำเนินงานวิจัยทุกคน ควรผ่านการอบรมด้านจริยธรรม การวิจัยในคน งานวิจัยในคนทุกเรื่องต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรม การวิจัยฯของสถาบันและไม่คัดลอกผลงานจากผู้อื่น (plagiarism)
  3. งานวิจัยทุกเรื่อง ต้องทำตามระเบียบวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมกับคำถามวิจัย
  4. การใช้ภาษาในการนำเสนอผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ขึ้นกับแนวทางของแต่ละสถาบัน

ขั้นตอนการดำเนินงานวิจัย

  1. ทบทวนวรรณกรรม และเตรียมคำถามการวิจัย ติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษา
  2. จัดทำโครงร่างงานวิจัย
  3. สอบโครงร่างการวิจัย
  4. ขออนุมัติการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบัน
  5. เริ่มเก็บข้อมูล เสนอความคืบหน้างานวิจัยต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะ
  6. วิเคราะห์ข้อมูล อภิปรายและจัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภายใต้การดูแลของคณะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษาร่วม
  7. สอบป้องกันงานวิจัย
  8. ส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ต่อสถาบัน หรือสถาบันฝึกอบรมต้นสังกัดแพทย์ประจำบ้านในกรณีที่เข้ารับการอบรมเพื่อทำวิจัยในสถาบันร่วม เพื่อส่งต่อให้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
  9. ตีพิมพ์หรือนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ ในกรณีทีต้องการเสนอพิจารณาเพื่อเทียบวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ต้องทำตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ

รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยหัวข้อหลักดังนี้

  1. บทคัดย่อ
  2. ความเป็นมาของการวิจัย
  3. จุดประสงค์ของการวิจัย
  4. ระเบียบวิธีการวิจัย
  5. ผลการวิจัย
  6. การวิจารณ์ผลการวิจัย
  7. เอกสารอ้างอิง

การรับรอง วุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ ให้มีวุฒิ “เทียบเท่าปริญญาเอก” ขณะนี้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายและระเบียบในการรับรองวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติให้ “เทียบเท่าปริญญาเอก”

6.3 จำนวนปีของการฝึกอบรม

3 ปี

6.4 การบริหารการจัดการฝึกอบรม

สถาบันฯ ต้องมีคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและอำนาจในการจัดการ การประสานงาน การบริหาร และ การประเมินผล สำหรับแต่ละขั้นตอนของการฝึกอบรม รวมถึงการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสมมีส่วนร่วมในการวางแผนการฝึกอบรม ประธานแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสาขานั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และจะต้องถูกเสนอชื่อจากสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและได้รับการรับรองจากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน

6.5 สภาวะการปฏิบัติงาน

สถาบันฯ ต้องจัดสภาวะการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้

  • ให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม ระบุกฎเกณฑ์และประกาศให้ชัดเจนเรื่องเงื่อนไขงานบริการและความรับผิดชอบของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
  • มีการกำหนดการฝึกอบรมทดแทนในกรณีที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการลาพัก เช่น การลาคลอดบุตร การเจ็บป่วย การเกณฑ์ทหาร การถูกเรียกฝึกกำลังสำรอง การศึกษาดูงานนอกแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร เป็นต้น
  • จัดมีค่าตอบแทนผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมกับตำแหน่งและงานที่ได้รับมอบหมาย
  • ควรมีการระบุชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม

6.6 การวัดและประเมินผล

มีการแจ้งกระบวนการวัดและประเมินผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบ โดยสามารถตรวจสอบและอุทธรณ์ได้เมื่อต้องการ การวัดและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย

6.6.1 การวัดและประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมและการเลื่อนชั้นปี

การประเมินระหว่างการฝึกอบรม

สถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมระหว่างการฝึกอบรม ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และกิจกรรมทางการแพทย์ ในมิติต่างๆ ดังนี้

  • มิติที่ 1 การประเมินกิจกรรมสมรรถนะองค์รวม (Entrustable Professional Activity: EPA) ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร (ภาคผนวกที่ 3,4,5,6,7)
  • มิติที่ 2 การรายงานผลการสอบจัดโดยสถาบัน (ผ่าน/ไม่ผ่าน)
  • มิติที่ 3 การรายงานประสบการณ์เรียนรู้จากการปฏิบัติงานบริการอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ และการปฏิบัติงานที่หน่วยฝึกอบรม ผ่านทาง log book หรือ portfolio
  • มิติที่ 4 การรายงานความก้าวหน้างานวิจัย และโครงการด้านอาชีวอนามัย (ถ้ามี)
  • มิติที่ 5 การร่วมกิจกรรมประชุมวิชาการทางอาชีวเวชศาสตร์
  • มิติที่ 6 การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอาชีวเวชศาสตร์ซึ่งจัดโดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสถาบันอื่นๆ ที่สมาคมโรคจาการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ให้การรับรอง
  • มิติที่ 7 การประเมินสมรรถนะด้าน professionalism และ interpersonal and communication skills โดยอาจารย์และผู้ร่วมงาน

การบันทึกข้อมูลการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำโดย

  • ผู้เข้ารับการฝึกอบรม/ สถาบันฝึกอบรม ทำการบันทึกข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องลงใน logbook/portfolio ตามที่สมาคมโรคจาการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กำหนดในแต่ละปีการศึกษา
  • สถาบันฝึกอบรมเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ จะทำการบันทึกข้อมูลการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมในมิติที่ 1-6 ทั้งรายบุคคลและรายสถาบัน เพื่อรายงานผลมายังคณะกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ตามที่กำหนด

ผลการประเมินนำไปใช้ในกรณี ต่อไปนี้

  1. เพื่อเลื่อนระดับชั้นปี
  2. เพื่อใช้พิจารณาคุณ�����มบัติผู้เข้าสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ

การประเมินระหว่างการฝึกอบรมโดยสม่ำเสมอและแจ้งผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรับทราบจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะหลักด้านต่างๆ ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้สมบูรณ์ขึ้น

เกณฑ์การเลื่อนชั้นปี

  1. ปฏิบัติงานไมด่ำกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาที กำหนด
  2. ผ่านการประเมินตามมิติต่างๆ ที่กำหนดในหลักสูตร โดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของแต่ละ มิติยกเว้นการสอบมิติที่ 2 ให้ใช้เกณฑ์ของแต่ละสถาบันกำหนด
  3. ผ่านเกณฑ์การประเมิน EPA (ภาคผนวก 3,4,5,6,7)
  4. ปฏิบัติได้สอดคล้องตามข้อกำหนดของสถาบันฝึกอบรม ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบัน

แนวทางการดำเนินการกรณีไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปี

  1. ต้องปฏิบัติงานเพิ่มเติมในส่วนที่สถาบันกำหนด แล้วทำการประเมินซ้ำ ถ้าผ่านการประเมินจึงสามารถเลื่อนชั้นปีได้
  2. ถ้าไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปีซ้ำตามข้อที่ 1 หรือไม่ผ่านการประเมินเพื่อรับการเสนอชื่อเข้าสอบวุฒิบัตร ต้องปฏิบัติงานในระยะชั้นปีเดิมอีก 1 ปี
  3. หลังจากปฏิบัติงานซ้ำในชั้นปีเดิมอีก 1 ปี แล้วยังไม่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนชั้นปี ให้ยุติการฝึกอบรม

ทั้งนี้ให้สถาบันส่งผลการประเมินแพทย์ประจำบ้าน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯราชวิทยาลัยฯและแพทยสภาตามลำดับ

6.6.2 การวัดและประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรฯ

การสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ

  1. คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้าสอบ
    • ผ่านการฝึกอบรมครบตามหลักสูตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรม
    • ผ่านการประเมินความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตลอดการฝึกอบรม 3 ปี
    • ส่งวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ ที่ใช้ประกอบการสำเร็จหลักสูตรปริญญาโทและมีการ เผยแพร่ผลงานหรือได้รับการตอบรับให้เผยแพร่ในวารสารวิชาการแล้ว
    • สถาบันฝึกอบรมเห็นสมควรและเสนอชื่อให้เข้าสอบ
  2. เอกสารประกอบ
    • เอกสารรับรองประสบการณ์ภาคปฏิบัติจากสถาบันฝึกอบรมตามที่กำหนด
    • รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และใบรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
    • รายงานการเผยแพร่งานวิจัยตามเกณฑ์ที่ อฝส.กำหนด
    • log book ที่มีอาจารย์แพทย์ที่สถาบันรับรอง ลงชื่อกำกับ
  3. วิธีการประเมินเพื่อวุฒิบัตรประกอบด้วย
    1. ข้อสอบกลางของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เป็นข้อสอบปรนัย (300 คะแนน) เนื้อหาประกอบด้วย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และความรู้พื้นฐานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน 200 คะแนน ความรู้เฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์ 100 คะแนน
    2. ข้อสอบเฉพาะแต่ละแขนง(700 คะแนน) ประกอบด้วย
      • การสอบปรนัย (MCQ) ในแขนงของตนเอง (200 คะแนน)
      • การสอบอัตนัย (MEQ, essay, short answer question) (200 คะแนน)
      • การสอบรูปแบบอื่น ๆ (300 คะแนน) โดยสถาบันสามารถเลือกรูปแบบและกำหนดสัดส่วน การสอบได้เอง โดยต้องมีการสอบอย่างน้อย 2/3 รูปแบบคือ
        • การสอบ OSCE (Objective Structured Clinical Examination)
        • การสอบ Long case/Long Scenario ทดสอบทักษะการแก้ปัญหาในแขนงที่เกี่ยวข้อง
        • การสอบปากเปล่า (Oral Examination)
    3. ผ่านการประเมินผลงานวิจัย
    4. ผ่านการประเมินผลปฏิบัติงานจากสถาบันฝึกอบรม ได้แก่ log book และ/หรือ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio), EPA

เกณฑ์การพิจารณาตัดสินผลการประเมิน ใช้เกณฑ์ร้อยละ 60 หรือโดยอยู่ในดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ แต่ละแขนง

6.6.3 การวัดและประเมินผลเพื่ออนุมัติบัตรฯ

ผู้สมัครสอบต้อง

  1. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมและได้ทำงานในสาขาอาชีวเวชศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยต้องทำงานในสถาบันที่ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ
  2. ต้องมีการปฏิบัติงาน และมี Log book แสดงว่ามีการปฏิบัติงานในแขนงอาชีวเวชศาสตร์จริง โดยต้องมีการลงรายชื่อรับรองจากแพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชืวเวชศาสตร์ และผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ดังต่อไปนี้
    1. ต้องมีการเดินสำรวจสถานประกอบกิจการ โรงงานอย่างน้อย 10 แห่ง
    2. ตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงอย่างน้อย 10 ครั้ง
    3. สอบสวนโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 5 ครั้ง
    4. ร่วมปฏิบัติงานคลินิกโรคจากการทำงาน และวินิจฉัยผู้ป่วยโรคจากการทำงานอย่างน้อย 10 ราย
    5. อื่นๆ (ถ้ามี) เช่นรูปแบบการจัดบริการ นวตกรรม
  3. ผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์
    1. ในสาขาอาชีวเวชศาสตร์ 2 เรื่องที่ตีพิมพ์ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิง วารสารไทย Thai-Journal Citation Index Center- TCI) หรือวารสารของต่างประเทศ ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS, ISI หรือ PUBMED
    2. ผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ ในสาขาอาชีวเวชศาสตร์ 1 เรื่องที่ตีพิมพ์ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิง วารสารไทย Thai-Journal Citation Index Center- TCI) หรือวารสารของต่างประเทศ ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS, ISI หรือ PUBMED และตำราหรือหนังสืออย่างน้อย 1 บท ที่ตีพิมพ์ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ต้องแนบสำเนามาด้วย) โดยมีคุณภาพดี มีเอกสารอ้างอิงและมีสัดส่วนร่วมงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยต้องเป็น ชื่อแรก
  4. ต้องผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น ความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ โดยสถาบันที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ รับรอง

เกณฑ์การตัดสิน

  • มีคุณสมบัติและผลงานครบถ้วนตามเกณฑ์
  • ส่งผลงานวิจัยตามเวลาที่กำหนด และผลงานต้องมีคุณภาพผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ
  • ผ่านการประเมิน EPA เช่นเดียวกับผู้สอบเพื่อวุฒิบัตรฯ
  • การสอบจะใช้ข้อสอบและเกณฑ์การตัดสินเช่นเดียวกับการสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ

เกณฑ์เฉพาะทางของสถาบันฝึกอบรม

สถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ จะต้องได้รับการรับรองจากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย โดยมีสถานที่, เครื่องมือ, อุปกรณ์, จำนวนผู้ป่วย, การบริการและผู้ดำเนินการฝึกอบรมเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมกำหนด โดยความเห็นชอบของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและแพทยสภาดังนี้

  1. มีสถานที่และเครื่องมือ อุปกรณ์ที่เพียงพอสำหรับการฝึกอบรมทางอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  2. มีจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมที่เหมาะสม ตามที่แสดงในข้อ 8คุณสมบัติของอาจารย์แพทย์ผู้ฝึกอบรม
  3. มีคลินิกเฉพาะทางและหน่วยงานสนับสนุน
    สถาบันฝึกอบรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ควรจะมีคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตองค์ความรู้ทางด้านลึกและใช้ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง
    • Occupational and environmental medicine clinic
    • Internal medicine clinic
    • Toxicology clinic
    • Chest clinic
    • Otology clinic
    • Ophthalmology clinic
    • Orthopedic clinic
    • Rehabilitation clinic
    • Psychiatry clinic
    ทั้งนี้หากสถาบันฝึกอบรมหลักมีสิ่งเหล่านี้ไม่ครบถ้วน ให้แพทย์ประจำบ้านศึกษาในสถาบันสมทบได้
  4. มีกิจกรรมทางวิชาการสม่ำเสมอ

สถาบันฝึกอบรมที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์จะต้องได้รับการประเมินคุณภาพจาก สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน))

7. การรับและคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

7.1 คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว และได้ผ่านการปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 2 ปี
  • ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์คัดเลือกของสถาบันที่ฝึกอบรม และความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ
  • มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทา

7.2 จำนวนผู้เข้ารับการอบรม

สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันฝึกอบรมรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ในสัดส่วนปีละ/ชั้นละไม่เกิน จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา – 1 คน โดยทั้งนี้สถาบันฝึกอบรมต้องมีอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา อย่างน้อย 2 คนขึ้นไปตามที่กำหนดในตารางต่อไปนี้

เกณฑ์สถาบันการอบรมเฉพาะแขนงอาชีวเวชศาสตร์

จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมปีละ ชั้นละ123456
จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเต็มเวลา234567
จำนวนผู้ป่วยนอกคลินิกที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงาน เช่น คลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม คลินิกประกันสังคม (ครั้ง/ปี)20040060080010001200
เดินสำรวจสถานประกอบการ (walkthrough survey) (ครั้ง/ปี)121416182022
ให้คำปรึกษาแนะนำสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในที่ทำงาน (ครั้ง/ปี)5060708090100
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ระหว่างการทำงาน (ครั้ง/ปี)101520253035
ให้คำปรึกษาโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานภายใน/ภายนอกโรงพยาบาล (ครั้ง/ปี)5060708090100
เฝ้าระวัง สอบสวนโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานหรือโรคเหตุสิ่งแวดล้อม (ครั้ง/ปี)101520253035
อาจารย์แพทย์เฉพาะทาง
อายุรกรรม111111
ตจวิทยา111111
อุรเวชวิทยา111111
พิษวิทยา111111
โสต ศอ นาสิก111111
จักษุวิทยา111111
ออร์โธปิดิกส์111111
เวชศาสตร์ฟื้นฟู111111
สูตินรีเวช111111
ศัลยกรรม111111

หมายเหตุ กรณีที่มีแพทย์เฉพาะทางไม่ครบสามารถไปหมุนเวียนในสถาบันที่มีแพทย์เฉพาะทาง โดยแจ้งมาที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ

กรณีที่แผนงานฝึกอบรมของสถาบันใด มีลักษณะเป็นสถาบันฝึกอบรมแบบภาคี ให้นับจำนวนอาจารย์ของสถาบันฝึกอบรมทุกแห่งรวมกันในการคำนวณศักยภาพ

7.3 กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม

สถาบันฝึกอบรมต้องจัดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม การคัดเลือกต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส และเท่าเทียมกัน โดยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ต่อปี

  • ต้องมีการประกาศคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ จำนวนแพทย์ประจำบ้านที่จะรับ และวิธีคัดเลือกผู้สมัครให้ชัดเจนผ่านทางสื่อต่างๆและ Website ของสถาบัน
  • คณะกรรมการฯต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยละเอียดให้เป็นไปตามเกณฑ์ จะต้องแจ้งให้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนทราบ
  • คณะกรรมากรฯสามารถคัดเลือกผู้สมัครด้วยวิธีต่างๆ เช่น การสอบ การสัมภาษณ์ การประเมินจากประวัติการทำงาน ประวัติการเรียนที่ผ่านมา ฯลฯ แต่ต้องแจ้งหัวข้อในการประเมินต่างๆให้ผู้สมัครทราบก่อนการสมัคร โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งสัดส่วนคะแนน
  • หลังการสอบคัดเลือก คณะกรรมการฯต้องมีการประชุมกันเพื่อลงมติเลือกผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกอบรม
  • คณะกรรมการฯต้องแจ้งผลให้ผู้สมัครทุกคนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

8. อาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

8.1 คุณสมบัติของประธานการฝึกอบรม

ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีภายหลังได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติฯ

8.2 คุณสมบัติและจำนวนของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

8.2.1 คุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์อย่างน้อย 2 ปีภายหลังได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ ฯ

ผู้ให้การฝึกอบรมแบบเต็มเวลา หมายถึง ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำรวมทั้งอาจารย์เกษียณอายุราชการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์หรือหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และได้รับเงินเดือนในอัตราเต็มเวลา

ผู้ให้การฝึกอบรมแบบไม่เต็มเวลา แบ่งเป็น 2 ประเภท

  • ก. พนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างประเภทบางเวลาอย่างน้อยครึ่งเวลา และได้รับเงินเดือนตามสัดส่วนงาน ให้นับเวลาปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง
  • ข. ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถาบันอื่น แผนกอื่น หรืออาจารย์เกษียณอายุมาช่วยสอนบางเวลา โดยไม่ได้มีสัญญาจ้างจากหน่วยงาน หรือปฏิบัติงานน้อยกว่าครึ่งเวลา ให้คิดเวลาปฏิบัติงานเฉพาะที่มาปฏิบัติงานสำหรับการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ และไม่นับเวลาที่มาสอนนักศึกษา/นิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้านสาขาอื่น

ผู้ให้การฝึกอบรมวุฒิบัตรฯในระดับเดียวกันใช้ศักยภาพได้ 35 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ใน 1 สาขาวิชา แต่ถ้าฝึกอบรมมากกว่า 2 สาขาวิชา ต้องแบ่งศักยภาพเป็น 2 สาขาวิชา โดยคิดสาขาวิชาหลักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

8.2.2 จำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม

ต้องมีจำนวนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมปฏิบัติงานเต็มเวลาให้เพียงพอ อาจให้มีอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาได้ โดยมีข้อกำหนดดังนี้

  1. จำนวนอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาต้องไม่มากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนอาจารย์เต็มเวลา
  2. ภาระงานของอาจารย์แบบไม่เต็มเวลาแต่ละคนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของภาระงานอาจารย์เต็มเวลา

สถาบันฯ ต้องกำหนดและดำเนินนโยบายการสรรหาและคัดเลือกอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมให้สอดคล้องกับพันธกิจของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร ระบุคุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมที่ชัดเจน โดยครอบคลุมความชำนาญที่ต้องการ ได้แก่ คุณสมบัติทางวิชาการ ความเป็นครู และความชำนาญทางคลินิก

สถาบันฯต้องระบุหน้าที่ความรับผิดชอบ ภาระงานของอาจารย์ และสมดุลระหว่างงานด้านการศึกษา การวิจัย อาจารย์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ อาจารย์จะต้องมีเวลาเพียงพอสำหรับการให้การฝึกอบรม ให้คำปรึกษา และกำกับดูแล นอกจากนั้นอาจารย์ยังต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านการแพทย์และด้านแพทยศาสตร์ศึกษา

สถาบันฯ ต้องจัดให้มีการพัฒนาอาจารย์อย่างเป็นระบบ และมีการประเมินอาจารย์เป็นระยะ

ในกรณีที่สัดส่วนของอาจารย์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมลดลงกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้ สถาบันควรพิจารณาลดจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมลงตามความเหมาะสมเพื่อคงคุณภาพการฝึกอบรมไว้

9. ทรัพยากรทางการศึกษา

สถาบันฯ ต้องกำหนดและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรการศึกษาให้ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้

  • สถานที่และโอกาสในการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่ทันสมัย สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างเพียงพอ มีอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมภาคปฏิบัติและมีสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่ปลอดภัย
  • การคัดเลือกและรับรองการเป็นสถานที่สำหรับการฝึกอบรม จำนวนสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน และผู้ป่วยเพียงพอและชนิดของผู้ป่วยหลากหลายสอดคล้องกับผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่คาดหวัง รวมทั้งการทำโครงการเฝ้าระวังโรค การให้บริการอาชีวอนามัย การประเมินความพร้อมในการทำงาน การกลับเข้าทำงาน การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางคลินิกและการเรียนภาคปฏิบัติที่พอเพียงสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้
  • สื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนรู้ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารให้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักจริยธรรม
  • การจัดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเป็นทีมร่วมกับผู้ร่วมงานและบุคลากรวิชาชีพอื่น
  • ความรู้และการประยุกต์ความรู้พื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาที่ฝึกอบรม มีการบูรณาการ และสมดุลระหว่างการฝึกอบรมกับการวิจัยอย่างเพียงพอ
  • การนำความเชี่ยวชาญทางแพทยศาสตร์ศึกษามาใช้ในการจัดทำแผนการฝึกอบรม การดำเนินการฝึกอบรม และการประเมินการฝึกอบรม
  • การฝึกอบรมในสถาบันอื่น ทั้งในและนอกประเทศตามที่ระบุไว้ในหลักสูตร ตลอดจนระบบการโอนผลการฝึกอบรม

10. การประเมินแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

สถาบันฯ ต้องกำกับดูแลการฝึกอบรมให้เป็นไปตามแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรเป็นประจำ มีกลไกสำหรับการประเมินหลักสูตรและนำไปใช้จริง การประเมินแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร ต้องครอบคลุม

  • พันธกิจของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
  • ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พึงประสงค์
  • แผนการฝึกอบรม
  • ขั้นตอนการดำเนินงานของแผนการฝึกอบรม
  • การวัดและประเมินผล
  • พัฒนาการของผู้รับการฝึกอบรม
  • ทรัพยากรทางการศึกษา
  • คุณสมบัติของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรม
  • ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการรับสมัครผู้รับการฝึกอบรมและความต้องการของระบบสุขภาพ
  • สถาบันฯร่วม
  • ข้อควรปรับปรุง

สถาบันฯต้องแสวงหาข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการฝึกอบรม/หลักสูตร จากผู้ให้การฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรม นายจ้างหรือผู้ใช้บัณฑิต และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมถึงการใช้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติงานของแพทย์ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ในการประเมินการฝึกอบรม/หลักสูตร

11. การทบทวน / พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม

สถาบันฯ ต้องจัดให้มีการทบทวนและพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรฝึกอบรมเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี ปรับปรุงกระบวนการ โครงสร้าง เนื้อหา ผลลัพธ์ และสมรรถนะของผู้สำเร็จการฝึกอบรม รวมถึงการวัดและการประเมินผล และสภาพแวดล้อมในการฝึกอบรม ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปรับปรุงแก้ข้อบกพร่องที่ตรวจพบ มีข้อมูลอ้างอิง และแจ้งผลการทบทวน และพัฒนาให้แพทยสภารับทราบ

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย​ (ผ่านทางสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการฝึกอบรม และทบทวน / พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นระยะ ๆ หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี และแจ้งผลการทบทวน / พัฒนาให้แพทยสภารับทราบ

12. ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ

  • สถาบันฯต้องบริหารจัดการหลักสูตรให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในด้านต่างๆ ได้แก่ การรับสมัครผู้เข้ารับการฝึกอบรม (เกณฑ์การคัดเลือกและจำนวนที่รับ) กระบวนการฝึกอบรม การวัดและประเมินผล และผลลัพธ์ของการฝึกอบรมที่พึงประสงค์ การออกเอกสารที่แสดงถึงการสำเร็จการฝึกอบรมในแต่ละระดับ หรือหลักฐานอย่างเป็นทางการอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมในระดับนั้นได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • สถาบันฯ ต้องกำหนดหน้าที่รับผิดชอบและอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตรให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านการฝึกอบรม
  • สถาบันฯ ต้องมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานและมีความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของการฝึกอบรมและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่ดีและใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
  • สถาบันฯ ต้องจัดให้มีให้มีจำนวนสาขาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และหน่วยงานสนับสนุนด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องครบถ้วน สอดคล้องกับข้อบังคับและประกาศของแพทยสภาในการเปิดการฝึกอบรม

13. การประกันคุณภาพการฝึกอบรม

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันฝึกอบรมที่จะได้รับการอนุมัติให้จัดการฝึกอบรม จะต้องผ่านการประเมินความพร้อมในการเป็นสถาบันฝึกอบรม และสถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องดังนี้

  1. การประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายในสถาบันฝึกอบรมจะต้องจัดให้มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายใน อย่างน้อยทุก 2 ปี
  2. การประกันคุณภาพการฝึกอบรมภายนอก สถาบันฝึกอบรมจะต้องได้รับการประเมินคุณภาพจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ อย่างน้อยทุก 5 ปี