background
พฤหัสบดี, 09 กรกฎาคม 2020

การรับมือสถานการณ์ระบาดของโคโรน่าไวรัสในพนักงานสถานประกอบการ

ในปี 2020 ทุกคนให้ความสนใจเกี่ยวกับการระบาดของโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะคนที่มีแผนจะเดินทางไปประเทศที่เสี่ยง เพิ่งกลับมาจากหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่กลับจากการเดินทางไปประเทศที่เสี่ยง แล้วเราจะป้องกันตัวเราเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงานในบริษัท และคนอื่นๆในชุมชนได้อย่างไร?

ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ส่งพนักงานเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่เมื่อพนักงานไปสัมผัสความเสี่ยงมาแล้วย่อมต้องวางแผนมาตรการรองรับให้ครอบคลุม

หลักการเบื้องต้นในการแบ่งประเภทของพนักงานกลุ่มเสี่ยงด้วยอาการและประวัติเสี่ยงสัมผัส

  1. พนักงานที่มีอาการผิดปกติ ได้แก่ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีเสมหะ
  2. พนักงานที่ไม่มีอาการแสดงแต่มีความเสี่ยงไปสัมผัสโรค ได้แก่
    1. เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงภายใน 14 วัน โดยพื้นที่เสี่ยงในปัจจุบัน ล่าสุดจะประกอบด้วย จีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และเริ่มจะพูดถึงเวียตนามกันบ้างแล้วครับ
    2. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยปอดอักเสบ
    3. สัมผัสกับสัตว์ที่อาจมาจากแหล่งโรค

พนักงานกลุ่มแรก

สถานประกอบการควรค้นหาพนักงานกลุ่มแรกให้พบโดยเร็วที่สุดและส่งเข้ารับการรักษาทันทีครับ โดยอาจใช้การตรวจวัดไข้ร่วมกับแบบสอบถามอาการให้พนักงานทุกคนตอบ หรือให้หัวหน้างานประเมินอาการที่สำคัญของทีมงานทุกคนด้วยการสอบถามร่วมกับการวัดไข้ โดยอาจใช้ความถี่เป็นการรายงานสัปดาห์ละครั้งร่วมกับให้พนักงานรายงานตัวเองทันทีที่มีอาการเปลี่ยนแปลงสำหรับพนักงานที่ไม่มีความเสี่ยงสัมผัส

พนักงานกลุ่มที่สอง

สำหรับพนักงานกลุ่มที่สองที่มีความเสี่ยงไปสัมผัสโรคมาแล้วแต่ยังไม่มีอาการการเฝ้าระวังอาการควรเข้มงวดมากขึ้นเป็นรายงานอาการและวัดไข้วันละครั้ง หรือเช้าเย็น ร่วมกับให้พนักงานรายงานตัวเองทันทีที่มีอาการเปลี่ยนแปลง

หากพนักงานมีรายงานอาการที่ผิดปกติให้ปรับเป็นกลุ่มที่ 1 และส่งพบแพทย์ทันที

นอกเหนือจากการเฝ้าระวังอาการ แล้วพนักงานที่เป็นกลุ่มที่ 2 และผู้ที่ใกล้ชิดกับพนักงานกลุ่มที่ 2 โดยเฉพาะครอบครัวที่บ้าน เพื่อนร่วมงาน ควรได้รับข้อมูลในการปฏิบัติตัวในระหว่างการอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมอันได้แก่

  1. ลดการปฏิสัมพันธ์ที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างบุคคลให้น้อยที่สุด เช่น การอยู่รวมกันในห้องแอร์ การอยู่ใกล้กันในรัศมี 6 เมตร(ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า 2-3 เมตรเท่านั้นครับ) การใช้มือหยิบจับสิ่งของร่วมกัน หากจำเป็นต้องออกไปยังสถานที่ที่มีคนแออัดต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือบ่อยๆครับ
  2. พนักงานกลุ่มเสี่ยงสัมผัสโรคอาจได้รับการพิจารณาให้ทำงานที่บ้าน ทำงานผ่านระบบออนไลน์ หรืออาจให้ลาหยุดอยู่กับบ้าน 14 วันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้เพื่อนร่วมงาน
  3. ในกรณีที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยงสัมผัสโรค (เฉพาะที่ยังไม่มีอาการป่วยหลังจากที่ทำแบบสอบถามแล้ว) ถ้าอยู่ในห้องเดียวกันควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทั้งสองฝ่าย ทำความสะอาดบริเวณที่มือจับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่หยิบจับสิ่งของต่างๆและทันทีที่ออกจากพื้นที่ ไม่นำมือขยี้ตาหรือถูบริเวณจมูก และเน้นสุขอนามัยระหว่างรับประทานอาหาร ควรปรุงให้สุกก่อนทานและใช้ช้อนกลาง โดยเฉพาะอาหารที่เป็นน้ำเนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในน้ำได้นานถึง 4 วัน และหากอยู่ในอากาศที่หนาวเย็นอาจอยู่ได้นานถึง 30 วัน

ตัวอย่างการรับมือ

ตัวอย่างที่หนึ่ง

พนักงานขับรถที่ขับรถไปรับพนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ พนักงานที่เดินทางกลับควรได้รับการประเมินอาการก่อนขึ้นรถโดยสารทุกคน ระหว่างการเดินทางทั้งพนักงานขับรถและพนักงานที่เดินทางกลับควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อส่งพนักงานที่เดินทางกลับถึงที่หมายแล้ว ควรทำความสะอาดภายในรถและบริเวณที่ผู้โดยสารอาจใช้มือจับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และเพื่อความมั่นใจอาจพิจารณาหยุดใช้รถคันนี้ 48 ชั่วโมงครับ ภายหลังจากจัดการรถเรียบร้อยพนักงานขับรถจึงค่อยถอดหน้ากากอนามัยออกโดยไม่ดึงบริเวณหู ทิ้งหน้ากากและล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ทันทีครับ

ตัวอย่างที่สอง

พนักงานจากสาขาประเทศจีนเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย ควรจัดให้เข้าทำงานในพื้นที่ของสถานประกอบการให้น้อยที่สุดในช่วง 14 วันแรก จัดให้ทำงานผ่าน VDO call เป็นหลัก หากมีความจำเป็นต้องเข้าทำงานภายในให้จัดพื้นที่แยกจากพนักงานอื่น ใช้แบบสอบถามคัดกรองอาการและวัดไข้ก่อนให้เข้าพื้นที่ จัดให้มีพนักงานเข้าไปประสานงานเพียงคนเดียวหรือมีจำนวนน้อยที่สุดแล้วสื่อสารต่อให้เพื่อนร่วมงานอีกที โดยระหว่างการทำงานร่วมกันให้พนักงานที่เข้าไปประสานงานและพนักงานจากสาขาจีนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับสิ่งของต่างๆและทันทีที่สิ้นสุดการทำงาน และจัดพื้นที่รับประทานอาหารแยกจากพนักงานรายอื่น