background
อังคาร, 17 เมษายน 2018

ประวัติสมาคม

ชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย

ในประเทศไทยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยังจัดเป็นแพทย์สาขาใหม่ ในยุคเริ่มแรกมีการจัดตั้งชมรมแพทย์เวชศาสตร์อุตสาหกรรมโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์มุกดา ตฤษณานนท์ เป็นสาขาหนึ่งของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทยในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2540 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์มุกดา ตฤษณานนท์ เป็นประธานชมรมคนแรก และมีผู้ร่วมจัดตั้งคนสำคัญคือแพทย์หญิงมาลินี วงศ์พานิช และรองศาสตราจารย์นายแพทย์รพีพัฒน์ ชคัตประภาสน์เป็นเลขาธิการโดยมีการจัดตั้งเป็นชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยมีสมาชิกเริ่มต้นเพียงไม่กี่ท่าน

วัตถุประสงค์เบื้องต้นของชมรมคือความให้ช่วยเหลือกันระหว่างบุคลากรในวิชาชีพในเรื่องวิชาการและความก้าวหน้าในอาชีพ หลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งชมรมพยาบาลอาชีวอนามัยขึ้นอีกสายหนึ่ง

ผลงานที่สำคัญของชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทยคือการผลักดันให้มีกฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นการกำหนดให้แพทย์ผู้ตรวจร่างกายคนงานจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมอาชีวเวชศาสตร์หลักสูตร 2 เดือน

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

ต่อมาชมรมได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยยกฐานะเป็นสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร เป็นนายกสมาคมฯ รองศาสตราจารย์นายแพทย์โยธิน เบญจวัง เป็นอุปนายกสมาคม นายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล เป็นเลขาธิการสมาคม จนถึงปี พ.ศ. 2561 มี นายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล เป็นนายกสมาคม และมีสมาชิกตลอดชีพจำนวน 1,015 คน ซึ่งจัดเป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จัดเป็นนิติบุคคล ภายใต้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย

สำหรับแพทย์ที่สนใจด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่เข้ามาร่วมทำงาน ในกระทรวงแรงงาน ได้แก่แพทย์ที่ทำงานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ออร์โธปิดิกส์ และศัลยกรรม ส่วนใหญ่จะได้รับเชิญจากกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่สมัยยังเป็นกรมแรงงานอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการแพทย์ที่ปรึกษาพิจารณาการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากลูกจ้างเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้

ในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2535 ยังไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ทำให้คณะแพทย์ซึ่งนำโดยอาจารย์แพทย์หญิงมาลินี วงศ์พานิชซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาอาชีวเวชศาสตร์ของประเทศไทย นายแพทย์อุดม เอกตาแสง แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ และนายแพทย์สนธยา พรึงลำภู ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการอบรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ระยะสั้นภายใต้การสนับสนุนของกรมการแพทย์ และกองทุนเงินทดแทนขึ้น และจัดอบรมรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2535 และมีการอบรมต่อเนื่องทุกปี

จนถึงปี พ.ศ. 2545 มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานภายในของกรมการแพทย์ จึงถ่ายโอนภารกิจให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ และมีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาล เป็นผู้จัดอบรมหลักสูตรนี้แทน จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 27 ต่อมามีการจัดอบรมโดย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมมีแพทย์ที่จบการอบรมระยะสั้นอาชีวเวชศาสตร์พื้นฐาน 2 เดือนจำนวน 1,114 คน (ปี พ.ศ. 2561)

ในการอบรมนี้โดยมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่สำคัญคือ สามารถวินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ สามารถอธิบาย พรบ. กองทุนเงินทดแทน พรบ. ประกันสังคม และกฎหมายเกี่ยวข้องด้านอาชีวอนามัย สามารถประเมินการสูญเสียสมรรถภาพได้ สามารถอธิบายความสำคัญของงานอาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัยได้ สามารถวางแนวทางในการดำเนินงานอาชีวอนามัยได้ในระดับหนึ่ง สามารถวางแผน ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งประเมินผลที่ได้ในสถานประกอบการ สามารถวางแผนและดำเนินการตรวจสุขภาพ

หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน

ในปี พ.ศ. 2546 เริ่มมีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านซึ่งมีชื่อเต็มว่าหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ (Diploma of the Thai Board of Preventive Medicine-Occupational Medicine) โดยเริ่มมีการฝึกอบรมแห่งแรกที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2546 และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเป็นแห่งที่สอง ในปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีแพทย์ประจำบ้านที่จบการศึกษาได้วุฒิบัตรแล้วทั้งหมด 75 คน และมีผู้ที่จบอนุมัติบัตร 94 คน

วัตถุประสงค์การฝึกอบรม

เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการการอบรมแล้วสามารถ

  1. ให้บริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนเพื่อการวินิจฉัย การรักษาโรคจากการประกอบอาชีพ โรคเนื่องจากงาน และโรคเหตุสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. จัดและดำเนินการระบบการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพ โรคเนื่องจากงาน และโรคเหตุสิ่งแวดล้อม
  3. วางแผนและดำเนินการบริการอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมแบบผสมสาน ทั้งในสถานบริการสาธารณสุข สถานประกอบการและชุมชน
  4. ตรวจคัดกรอง (Screening ) และเฝ้าคุมสุขภาพ (Health monitoring) รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแก่ผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา อย่างเป็นระบบ
  5. เผยแพร่ฝึกอบรม ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันอุบัติภัยและโรคจากการประกอบอาชีพ การปรับปรุงภาวะแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และผู้ประกอบอาชีพทั่วไป
  6. ประสานการดำเนินงานอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมทั้งด้านวิชาการบริการ บริหารและการคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายสาขาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. ดำเนินการระบบข้อมูลข่าวสารด้านอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม และประยุกต์ใช้ เพื่อการบริการและวิชาการ
  8. รู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม
  9. เข้าใจประเด็นความเกี่ยวข้องระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพของคน
  10. วางแผนและจัดบริการด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้

ระยะเวลาการฝึกอบรมแบ่งเป็น 3 ปี โดย

  • ปีที่ 1 ฝึกอบรมความรู้พื้นฐานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมโดยการเข้ารับการอบรมความรู้พื้นฐานอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือนที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และฝึกอบรมหมุนเวียนทางคลินิกในสาขาต่างๆ เพื่อฝึกการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่มารับการรักษาที่แผนกนั้น
  • ปีที่ 2 เป็นการศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอาชีวเวชศาสตร์หรือเทียบเท่า ระยะเวลาในการศึกษา ไม่น้อยกว่า 10 เดือน และศึกษาระเบียบวิธีการวิจัย เขียนและเสนอโครงร่างการวิจัย (Research Proposal ) ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวเวชศาสตร์ระยะเวลา 2 เดือน
  • ปีที่ 3 การฝึกอบรมวิชาอาชีวเวชศาสตร์ภาคปฏิบัติในสถาบัน โรงพยาบาล สถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรม ที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบให้การรับรอง ระยะเวลาในการฝึกอบรม 12 เดือน

อย่างไรก็ตามในปี 2561 ทางแพทยสภาได้มีการจัดให้มีการทำหลักสูตรอบรมแพทย์ประจำบ้านใหม่ ตาม World Federation of Medical Education (WFME) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการจัดทำอยู่