อาทิตย์, 29 พฤศจิกายน 2020

การวิ่งระยะไกล และ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ก่อนวิ่งควรระวังอะไรบ้าง

main_image
main_image
main_image

วันนี้มีข่าวมีผู้ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหันระหว่างการวิ่งระยะไกล สามคนทีเดียว คนหนึ่งเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่รู้จักดี มีข่าวแบบนี้เป็นระยะ การวิ่งเป็นเรื่องดี เป็นการออกกำลังที่ดีต่อสุขภาพ มีผลดีมากกว่าผลเสียแน่ๆ แต่นักวิ่งควรมีการเตรียมพร้อมและฟิตสุขภาพให้ดี มีโรคบางโรคที่เป็นผลเสียถ้ามีการวิ่งระยะไกล ในระยะหลังมีคนนิยมวิ่งมากขึ้น มีการแข่งขันจัดมากขึ้น (งดไปในช่วง COVID-19 และเริ่มกลับมาใหม่) ถ้าคุณอยากวิ่งระยะไกล ควรไปตรวจสุขภาพด้วย ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ฟิตหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับว่านักวิ่งจะต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อน แต่จากจำนวนที่มากขึ้น และการที่พบการถึงแก่กรรมมากขึ้น ก็ถือว่าต้องระวังไว้ (มีบางประเทศที่บังคับต้องมีใบรับรองแพทย์ เช่น ประเทศอิตาลี) ในการศึกษาของ NEJM ในตัวอย่างข้างล่างนี้ เป็นการศึกษาเฉพาะในอเมริกา ในช่วงปี 2000-2010 อัตราการมีภาวะหัวใจหยุดเต้น เพิ่มมากในช่วง ห้าปีหลัง และจากบทสัมภาษณ์ของ website Cleveland .com ก็มีการยกตัวอย่างข่าวภาวะหัวใจหยุดเต้นในประเทศต่างๆ ในช่วงปี 2019 แสดงว่ามีมากขึ้น แต่อย่างที่บอกครับ ว่าไม่ได้นำมาลงเพราะไม่สนับสนุน แต่สนับสนุนให้วิ่งเต็มที่ เพราะผลดีมีมากกว่าผลเสีย แต่ต้องซ้อมให้ดี ระวังสุขภาพตัวเองด้วย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นระหว่างการวิ่งแข่งขันระยะไกล (Cardiac Arrest during Long-Distance Running Races) ใน NEJM ปี 2012 (NEJM2012; 366:130-140) Kim JH et al. พบว่ามีชาวอเมริกันวิ่งแข่งระยะไกล 2 ล้านคนทุกปี มีการรายงานเกี่ยวกับภาวะหัวใจหยุดเต้นซึ่งเป็นที่น่ากังวลสำหรับการวิ่งนี้ ผู้ศึกษาใช้วิธีค้นหาอุบัติการณ์และผลลัพธ์ของหัวใจหยุดเต้นในการวิ่งมาราธอนและฮาฟมาราธอนในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 1 มกราคม 2000 ถึง 31 พฤษภาคม 2010 และหาลักษณะทางคลินิกของการหยุดเต้นโดยสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและประวัติของผู้ถึงแก่กรรม โดยทบทวนเวชระเบียนและข้อมูลหลังการเสียชีวิต พบว่า ในนักวิ่ง 10.9 ล้านคน มี 59 คนถึงแก่กรรมจากหัวใจหยุดเต้น (อายุเฉลี่ย 42+/-13 ปี เป็นผู้ชาย 51 คน) คิดเป็นอัตรา 0.54 ต่อ 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อัตราเป็นจะสูงระหว่างการวิ่งมาราธอน (1.01 ต่อ 100,000 คน) มากกว่าฮาฟมาราธอน (0.27 ต่อ 100,000 คน) และเป็นในผู้ชาย (0.90 ต่อ 100,000 คน) มากกว่าผู้หญิง (0.16 ต่อ 100,000 คน) นักวิ่งมาราธอนชายจะมีความเสี่ยงสูงสุดและถึงแก่กรรมในมากในช่วงหลังของการศึกษา (ในปี 2000-2004 มีอัตรา 0.71 ต่อ 100,000 คน ในปี 2005-2010 มีอัตรา 2.03 ต่อ 100,000 คน) ใน 59 รายที่พบ ถึงแก่กรรม 42 ราย (71%) โดยมีอัตรา 0.39 ต่อ 100,000 คน โดย 31 รายที่มีการบันทึกทางคลินิกครบถ้วน มีการช่วยชีวิต (CPR) โดยผู้พบเห็นข้างทาง และโรคหัวใจชนิดอื่นนอกจากหัวใจโตจากกล้ามเนื้อหัวใจมีพยาธิสภาพ (cardiomyopathy) เป็นตัวทำนายว่าโอกาสรอดจะสูง (ถ้าเป็น cardiomyopathy โอกาสถึงแก่กรรมสูง) สรุป มาราธอนและฮาฟมาราธอนจะมีความเสี่ยงหัวแจหยุดเต้นและถึงแก่กรรมกระทันหันต่ำ ภาวะหัวใจหยุดเต้นพบว่าเกิดจาก hypertrophic cardiomyopathy หรือโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว (atherosclerotic coronary disease) มากที่สุดในกลุ่มนักวิ่งมาราธอนชาย และมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษหลังที่ผ่านมา

จากบทความ Before you run a marathon, what health tests can you request? วันที่ 23 พฤษภาคม 2019 จากบทสัมภาษณ์ของ Timothy Miller ผู้อำนวยการของ endurance medicine ที่ Ohio State University’s Wexner Medical Center พบว่าการตายของนักวิ่งมาราธอนพบบ่อยกว่าที่คุณคิด Miller กล่าวว่ากุญแจสำคัญที่จะค้นหาความเสี่ยงนี้คือการตรวจสุขภาพก่อนการฝึกที่หนักหนาสาหัส ถ้าแพทย์รู้ว่าคุณจะต้องพบกับความเครียดสูงต่อร่างกาย (major stress on the body) แพทย์จะถามคำถามคัดกรองและทำการทดสอบตามทีจำเป็น คำถามอันหนึ่งที่สำคัญคือมีใครในครอบครัวตายเพราะสาเหตุจากหัวใจก่อนอายุ 50 หรือไม่ คำถามอื่นคือคุณเคยมีอาการเจ็บหน้าอกหรือปัญหากับการหายใจลำบากขณะฝึกหรือไม่ Miller ย้ำว่าเขาไม่ได้พยายามทำให้คนหยุดวิ่ง การวิ่งเป็นเรื่องดี และการวิ่งมาราธอนมีข้อดีต่อสุขภาพมากกว่าความเสี่ยง แต่ถ้าคุณไม่ได้ฝึกอย่างดี ก็หมายความว่าคุณจะเจอปัญหายุ่งยากแน่ ต่อไปนี้คือความเสี่ยงบางอย่าง

  1. Hypertrophic Cardiomyopathy (โรคที่เป็นอยู่แล้ว) เป็นโรคที่ผนังของหัวใจหนาตัวขึ้น เป็นสาเหตุของการถึงแก่กรรมในนักกีฬาอายุน้อย เมื่อผนังโตขึ้นการบีบตัวก็ถูกจำกัด ทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ อาการส่วนมากจะไม่มีจนกว่าจะอายมากขึ้น ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะมีประวัติครอบครัวเป็นเหมือนกัน การตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echo cardiography) จะช่วยค้นหาโรคนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่นักวิ่งจะคิดว่าไม่จำเป็นเพราะอายุยังน้อยและร่างกายก็ฟิตดี
  2. หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Wolff Parkinson White Syndrome (โรคที่เป็นอยู่แล้ว) โรคนี้พบได้น้อยมาก ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจากตัวกำเนิดไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ บางครั้งสามารถตรวจพบได้ แต่ไม่มีอาการ หัวใจจะเต้นผิดจังหวะมากขึ้นขณะออกกำลัง โรคนี้พบได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และการทำ exercise stress test ซึ่งก็คือการวิ่งสายพานและตรวจไฟฟ้าหัวใจ
  3. การออกกำลังแล้วทำให้เป็นหอบหืด (โรคที่เป็นอยู่แล้ว) การออกกำลังที่ทำให้เป็นหอบหืดจะแสดงอาการไอระหว่างหรือหลังการออกกำลังกาย อาจจะเกิดจากการออกกำลังกายในหน้าหนาว การแพ้ และละอองเกสรดอกไม้ และบางครั้งรุนแรงจนทำให้ถึงแก่กรรมขณะวิ่ง หอบหืดจะทำให้หลอดลมหดเกร็งทำให้ไอและหายใจมีเสียงหวีด เนื่องจากหลายคนมีปัญหาการหายใจระหว่างออกกำลัง บางครั้งทำให้ละเลยโรคนี้ไป
  4. โรคลมแดด และเพลียแดด (Heat stroke และ Heat exhaustion) ในหน้าร้อนจะมีผลต่อนักวิ่งการเพิ่มความร้อนทำให้มีการขาดน้ำ และเกลือแร่ ถ้าเป็นมากจะไม่รู้สติและถึงแก่กรรมได้
  5. ภาวะโซเดียมต่ำ (Hyponatremia) เกิดจากการที่โซเดียมในร่างกายต่ำมากจนถึงระดับเป็นอันตราย ซึ่งสามารถเกิดจากการดื่มน้ำเป็นจำนวนมากเกินไปด้วย บางครั้งเรียก น้ำเป็นพิษ (water poisoning) ถ้านักกีฬาดื่มน้ำมากเกิดไปก่อนและระหว่างการแข่งขัน จะทำให้ระดับโซเดียมต่ำลง โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็งหรือเป็นตะคริว ปวดศีรษะและสับสน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  6. ภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัว (Rhabdomyolysis) ถ้าคุณพยายามวิ่งแข่งมาราธอนหรือฮาฟมาราธอนเร็วเกินไป กล้ามเนื้อจะสลายตัว ทำให้มีการปล่อย myoglobin ออกมา ซึ่งถ้ามีปริมาณมากจะเป็นอัตนรายต่อไต และอาจถึงแก่กรรมได้ การตรวจทำได้หลังการแข่งเพื่อดูระดับ myoglobin ในปัสสาวะ
  7. อันนี้ผมเขียนเองครับ ควรดู AQI ด้วย คือดูคุณภาพอากาศด้วย ถ้าเป็นสีส้มขึ้นไป ก็ไม่ควรไปวิ่ง แม้ว่าจะฟิตเพียงไหน เพราะมีมลภาวะในอากาศสูง ทั้ง PM2.5, PM 10, Sulphur dioxide, Nitrogen Oxide, Ozone และโลหะหนักอื่นๆ ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น สุดท้ายนี้ขอสนับสนุนการวิ่งด้วยข้อมูลจาก Journal of Americal Colledge of Cardiology ตีพิมพ์ในปี 2014 ได้สำรวจการตายจากโรคหัวใจทั้งหมด พบว่าการวิ่งแม้เพียง 5-10 นาทีต่อวัน ในอัตราความเร็วต่ำ น้อยกว่า 6 ไมล์ต่อชั่วโมง จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกสาเหตุ