พฤหัสบดี, 01 กรกฎาคม 2021

ขอให้มีการทบทวนแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน COVID-19

main_image
main_image
main_image

เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ในขณะนี้มีการแพร่กระจายไปทั่วและมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากวัคซีนที่ได้รับทั้งสองชนิดนั้นสามารถลดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อซึ่งมีหลักฐานการติดโรค COVID-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจนต้องปิดโรงพยาบาลไปแล้วหลายแห่งจึงต้องเน้นการจัดมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่เช่นเดิมโดยบุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยจึงต้องเน้นย้ำความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ (2P Safety) การที่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการปรับแก้อย่างเร่งด่วน

จากแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 (วันที่ 21 พฤษภาคม 2564)จัดทำโดยกรมการแพทย์กำหนดให้บุคลากรที่ฉีดวัคซีนและเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อพบผล Swab ครั้งแรกได้ผลลบ ให้ปฏิบัติงานต่อโดยรักษามาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด ต่างจากบุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าสัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นการตั้งสมมติฐานว่าการรับวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ หรือชี้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไม่น่าจะติดเชื้อ โดยพบข้อมูลทั่วโลกซึ่งยืนยันแล้วว่าแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อ COVID-19 ได้ รวมทั้งมีหลักฐานในประเทศไทยที่พบบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนและติดเชื้อจำนวนมาก ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลเชียงราย โรงพยาบาลอยุธยา นอกจากนี้ยังมีกรณี variant of concerns อีกด้วย จึงควรมีการทบทวนปรับแนวทางของกรมการแพทย์ฉบับนี้ เนื่องจากการกักตัวเป็นความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมงานและครอบครัว

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและสมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญของการรักษากำลังคนด้านสุขภาพไม่ต้องการให้เกิด Cluster ของโรค COVID-19 ในโรงพยาบาล ข้อเสนอว่าไม่ควรใช้ข้อมูลการรับวัคซีนของบุคลากรเป็นการกำหนดความแตกต่างแนวทางการกักตัวของบุคคลลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในโรงพยาบาลควรจะเน้นการจัดมาตรการป้องกันให้บุคลากรเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้บุคลากรถูกกักตัว ซึ่งขณะนี้หลายโรงพยาบาลยังไม่มีแนวทางโดยในสถานการณ์ขณะนี้ ควรมุ่งเน้นการทำเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทยจึงขอให้มีการทบทวนแนวทางปฏิบัตินี้ให้ทันสมัยและมุ่งเน้นความปลอดภัยตามจรรยาบรรณวิชาชีพด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งอนึ่งในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยควรมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือพยาบาลอาชีวอนามัยเข้าไปร่วมในการจัดทำแนวทางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดระบบดูแลในภาวะวิกฤติหนี้อย่างมีมาตรฐานทั่วประเทศซึ่งสมาคมฯทั้งสองแห่งยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่